ศูนย์นวัตกรรมการเกษตร มุ่งเน้นที่การปรับปรุงอาหารสัตว์ของเบทาโกร มีการคิดค้นการผสมผสานโภชนาการและวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อสมรรถภาพการผลิตของสัตว์ พร้อมทั้งลดของเสียอินทรีย์ โดยมีตัวอย่างของกรณีที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่

อาหารโปรตีนต่ำสำหรับสุกร

ศูนย์นวัตกรรมการเกษตร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาหารสุกรโปรตีนต่ำ ซึ่งช่วยลดไนโตรเจนในมูล และในอาหารสัตว์ ทั้งยังช่วยลดฟอสฟอรัส ต้นทุนอาหารสัตว์ และกลิ่นในฟาร์มสุกร ทำให้สุขภาพและอัตราการเจริญเติบโตของสุกร รวมทั้งสภาพแวดล้อมในฟาร์มได้รับการปรับปรุง นอกจากนี้ต้นทุนอาหารสัตว์ของเบทาโกร ลดลงไปประมาณร้อยละ 3 หรือประมาณ 350 บาทต่อตัน เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนของสูตรอาหารสุกรแบบดั้งเดิม คิดเป็นการลดต้นทุนประมาณ 3.99 ล้านบาท ในปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564

อาหารสัตว์แบบผงคุณภาพสูงสำหรับลูกสุกรหย่านม

ลูกสุกรหลังหย่านมส่วนใหญ่จะประสบปัญหาท้องเสียและผอม เนื่องจากความเครียด ทำให้เกิดอัตราการสูญเสียลูกสุกรหย่านมที่สูง ศูนย์นวัตกรรมการเกษตร จึงได้ศึกษาและพัฒนาอาหารสัตว์แบบผงสำหรับลูกสุกรหย่านม ที่เรียกว่า "BE-LAC 300SMI" ซึ่งช่วยลดอัตราการสูญเสียลูกสุกรหย่านม เพราะอาหารสัตว์นี้ประกอบด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่คล้ายกับน้ำนมแม่สุกร และรูปแบบผงของอาหารยังช่วยให้ลูกสุกรกินได้เร็วขึ้น เนื่องจากอาหารแบบผงสามารถติดที่จมูกและปากของลูกสุกรได้ง่าย ดังนั้น อัตราการสูญเสียลูกสุกรหย่านมที่เลี้ยงด้วย BE-LAC 300SMI จึงได้ลดลงเหลือร้อยละ 15.8 เปรียบเทียบกับร้อยละ 17.1 สำหรับลูกสุกรหย่านมที่เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดแบบมาตรฐาน

อาหารปลาสลิดชนิดเม็ดลอยน้ำ

ปลาสลิดเป็นปลาน้ำจืดประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีการบริโภคอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วการเลี้ยงปลาสลิดอาศัยอาหารจากธรรมชาติ และอาหารเม็ดพร้อมกินชนิดจมน้ำซึ่งมีผลต่อคุณภาพน้ำและประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากอาจมีสัตว์อื่นที่ไปกินอาหารเหล่านี้ เบทาโกรโดยศูนย์นวัตกรรมการเกษตร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารปลาสลิดชนิดเม็ดลอยน้ำที่ลดผลกระทบต่อระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปลาอีกด้วย