เบทาโกรได้ดำเนินมาตรการ “ความปลอดภัยทางชีวภาพเบทาโกร (Betagro Biosecurity Management)” )” เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคในปศุสัตว์ โดยมุ่งเน้นการจัดการองค์รวม ทั้งการจัดการทางกายภาพ เช่นโครงสร้างฟาร์ม โครงสร้างโรงเรือน เป็นต้น การจัดการกระบวนการ เช่น การประเมินความเสี่ยงขั้นตอนการผลิตและกำหนดมาตรการควบคุม รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ ความรู้ ความสามารถของพนักงาน โดยเฉพาะการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์ม หรือการจำกัดการแพร่กระจายของโรคติดต่อตลอดทั่วห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม การจับ และการขนส่งยังโรงงานแปรรูป

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเบทาโกรมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่

  1. การแยกสัตว์ หมายถึง การกักสัตว์ไว้ภายในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม และการแยกสัตว์ยังใช้กับการแยกตามกลุ่มอายุ ซึ่งในการดำเนินงานเกี่ยวกับสัตว์ปีกและสุกร จะใช้ระบบการจัดการแบบเข้าออกพร้อมกันหมด (All-In/ All-Out) ทำให้สามารถย้ายฝูงสัตว์ทั้งหมดออกจากสถานที่ได้พร้อมกัน ทำให้เวลาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเป็นระยะเพื่อยุติวงจรเชื้อโรค
  2. การควบคุมการขนส่ง ครอบคลุมทั้งเส้นทางระหว่างการเดินรถไปฟาร์ม และเส้นทางภายในฟาร์ม สำหรับมาตรการนำรถเข้าไปในฟาร์ม ขั้นตอนจะประกอบด้วย การเลือกยานพาหนะขนส่งที่รับประกันความสะอาด หลีกเลี่ยงเส้นทางที่อาจจะมีการระบาดของโรค ส่วนการจราจรภายในฟาร์ม จะมีการกำหนดเส้นทางการเดินรถ และแยกพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรค
  3. การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ ได้แก่ การฆ่าเชื้อวัสดุสิ่งของ คน และอุปกรณ์ที่เข้าไปในฟาร์ม รวมถึงความสะอาดของบุคลากรในฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทฯ ได้จัดเตรียมวัสดุฟาร์มที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น ชุดอุปกรณ์และเครื่องมือฟาร์มสำหรับคนงาน และผู้มาติดต่อตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice - GAP)